25 เมษายน วันคล้ายวันสถาปนา “อรินทราช​ 26”

วันที่ 25 เมษายน​ 25 วัน​คล้าย​วัน​สถาปนา​หน่วย​อรินทราช​ 26 กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ ซึ่งปี​นี้​ครบ​รอบ​ 36​ ปี

อรินราช 26 (โดยชื่อมาจาก อริ = ข้าศึก, ศัตรู + อินท = จอม, ผู้เป็นใหญ่ + ราช = พระราชา + 26 = ปีที่ก่อตั้ง พ.ศ. 2526)อรินทราช 26 เป็นหน่วยตำรวจที่มีความขำนาญการใช้อาวุธและยุทธวิธีพิเศษ (Special Weapons And Tactics : S.W.A.T.) มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการพิเศษต่อภัยคุกคามที่เป็นอาชญากรรม และการก่อการร้าย ด้วยการแย่งชิงตัวประกัน การจับกุม ฯลฯ ตามแนว “การบริหารวิกฤตการณ์” (Crisis Management) โดยมีพื้นที่รับผิดชอบในเมืองหลวง และปริมณฑล เป็นหน่วยระดับ กองร้อย มีอุปกรณ์ครบมือเช่น ปืนยิงแห, ปืนไฟฟ้า, ปืนพก, ปืนลูกซอง, ปืนกลเบา, ปืนไรเฟิล, ระเบิดมือ, อุปกรณ์ต่อต้านการจลาจล ฯลฯ

ภารกิจ หน้าที่
* ช่วยเหลือตัวประกัน
* ควบคุมการก่อจลาจล
* ปราบปรามอาชญากรรม
* ต่อต้านการก่อการร้าย
* ให้ความปลอดภัยบุคคลสำคัญ
* เพิ่มการรักษาความปลอดภัยในจุดสำคัญ ในเวลาปกติ และเมื่อมีกิจกรรมพิเศษ

การฝึก

อรินทราช 26 มาจากผู้ที่เรียนจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ หรืออาสาสมัครตำรวจ การฝึกในครั้งแรกไม่มีรูปแบบที่แน่นอน โดยได้รับการสนับสนุนครูฝึกจาก ตร. และยึดรูปแบบการปฏิบัติการเป็นทีม 5 คน เหมือนหน่วยปฏิบัติการพิเศษ GSG 9 ของประเทศเยอรมนี มีการฝึกการยิงปืนทางยุทธวิธี การฝึกพลแม่นปืน การปฏิบัติการทางน้ำ การต่อสู้ป้องกันตัว การขับขี่ยานพาหนะในรูปแบบต่างๆ เมื่อการฝึกรุ่นแรกสำเร็จ ก็มีการถ่ายทอดให้กับกำลังพลที่เข้าประจำการในกองร้อยปฏิบัติการพิเศษเรื่อย มา อีกทั้งมีการจัดส่งกำลังพลไปฝึกในหลักสูตรต่างๆ ของต่างประเทศและนำวิชาความรู้กลับมาถ่ายทอดให้กับกำลังพลที่อยู่ในหน่วย โดยจะทำการฝึกกันเองถ่ายทอดกันต่อๆ มา และได้มีการจัดแบ่งหลักสูตร ออกเป็น 5 หลักสูตร คือ
1. หลักสูตรการต่อต้านการก่อการร้ายสากล 24 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุใหม่
2. หลักสูตรทบทวนการต่อต้านการก่อการร้ายสากล 6 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่ประจำการอยู่ในหน่วย และฝึกทดสอบแผนปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย 1 สัปดาห์
3. หลักสูตรการทำลายระเบิด 12 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุในตำแหน่ง “พลเก็บกู้ทำลายระเบิด”
4. หลักสูตรพลแม่นปืน 4 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุในตำแหน่ง “พลซุ่มยิง”
5. หลักสูตรผู้ชำนาญการอิเล็กทรอนิคส์ 12 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุในตำแหน่ง “ผู้ชำนาญการอิเล็กทรอนิคส์”
นอกจากนี้ยังมีการฝึกต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น “แผนกรกฏ 48″ การฝึกในสถานการณ์สมมุติ และการฝึกร่วมกับหน่วยงานอื่น