กองปราบทลายเครือข่ายรับปลอมแปลงเอกสารธนาคารชื่อดัง เสียหายนับสิบล้าน

ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ผบก.บก.ป., พล.ต.ต.สันติ ชัยนิรามัย ผบก.สส.บช.น., พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.นพศิลป์ พลูสวัสดิ์ รอง ผบก.สส.บช.น., พ.ต.อ.อรรถพล อนุสิทธิ์ รอง ผบก.สส.บช.น., พ.ต.อ.อรุณ วชิรศรีสุกัญยา ผกก.2 บก.ป., พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย ผกก.สส.๒ บก.สส.บช.น., พ.ต.ท.วิศิษฐ์ พลบม่วง, พ.ต.ท.สมบัติ มีมงคล, พ.ต.ท.วิญญู  แจ่มใส, พ.ต.ท.นฤทธิ์ ผูกจิตร รอง ผกก.๒ บก.ป., พ.ต.ท.กรกช  ยงยืน สว.กก.๒ บก.ป. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการที่ ๓ กก.๒ บก.ป. และ เจ้าหน้าที่ กก.สส.๒ บก.สส. บช.น. นำโดย พ.ต.ต.ณัฏฐเดช อยู่นุช สว.ฯ, ร.ต.อ.ศุภศักดิ์ มีสุข, ร.ต.อ.กิตติภัทร หงษ์ชูเวช

ร่วมกันจับกุม     ๑. น.ส.นุชนาฏ (สงวนนามสกุล) อายุ ๒๗ ปี ในข้อกล่าวหา “ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคิมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน , ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม” ตามหมายจับศาลอาญาที่ ๗๗๙/๒๕๖๓ ลง ๕ มิ.ย.๖๓ ๒. น.ส.นวลนาง (สงวนนามสกุล) อายุ ๓๙ ปี ในข้อกล่าวหา “ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคิมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน , ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม” ตามหมายจับศาลอาญาที่ ๗๗๘/๒๕๖๓ ลง ๕ มิ.ย.๖๓ หมายจับศาลจังหวัดฝางที่ จ.๗/๒๕๖๑ ลง ๒๒ ม.ค. ๖๑ ๓. น.ส.วิริน (สงวนนามสกุล) อายุ ๔๓ ปี ในข้อกล่าวหา “ฉ้อโกงประชาชนและแสดงตนเป็นบุคคลอื่นโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคิมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” ตามหมายจับศาลจังหวัดสกลนครที่ จ.๕๓/๒๕๖๓  ลงวันที่ ๘ เม.ย.๖๓ ๔. นายกุณฑล (สงวนนามสกุล) อายุ ๕๐ ปี ในข้อกล่าวหา “ฉ้อโกงประชาชนและแสดงตนเป็นบุคคลอื่นโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” ตามหมายจับศาลจังหวัดสกลนครที่ ๓๙/๒๕๖๓ ลง ๒๒ มิ.ย.๖๓

 จากการที่กองบังคับการปราบปราม ได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนและผู้เสียหายจำนวนมาก ว่ามีกลุ่มบุคคลที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร สามารถดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่มีความเดือดร้อน ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้หรือสินเชื่อกับทางธนาคารได้ โดยจะต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินที่แตกต่างกันไป ตามจำนวนเงินที่ต้องการจะกู้ โดยพฤติการณ์ของกลุ่มบุคคลกลุ่มนี้จะทำการโฆษณาลงในเว็ปไซต์ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ มีเนื้อหาในการโฆษณาว่า “เงินด่วนอนุมัติเร็ว” และลงเบอร์โทรศัพท์ติดต่อไว้ เมื่อมีคนหลงเชื่อโทรติดต่อไป กลุ่มบุคคลเหล่านี้จะอ้างว่าตนว่ารู้จักกับเจ้าหน้าที่ธนาคารสามารถวิ่งเต้นให้อนุมัติเงินกู้หรือสินเชื่อได้ และสามารถทำเอกสารเพื่อประกอบการยื่นกู้ได้ จากนั้นจะนำ ชื่อ-สกุล ของเหยื่อผู้หลงเชื่อ ไปทำเอกสารปลอม เช่น สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองเงินเดือนจากบริษัท และรายการเดินบัญชีธนาคาร (statement) และจะส่งเอกสารปลอมดังกล่าวโดยแนบเป็นไฟล์ไปที่อีเมล์ของเหยื่อ เพื่อให้เหยื่อนำไปพิมพ์ออกมา และนำไปยื่นกู้ที่สถาบันการเงินต่างๆ โดยในการกระทำดังกล่าวนี้ กลุ่มบุคคลนี้จะหลอกลวงให้เหยื่อ โอนเงินซึ่งอ้างว่าเป็นค่าทำเอกสารและค่าวิ่งเต้นกับทางธนาคารเพื่อให้อนุมัติเงินกู้หรือสินเชื่อ ในจำนวนเงินแตกต่างกันไป ถ้าต้องการกู้เงินมาก ก็จะมีค่าใช้จ่ายมาก ซึ่งทางกองปราบปรามเห็นว่ามีพี่น้องประชาชนที่หลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก บางรายนำเอกสารดังกล่าวไปยื่นกู้กับทางธนาคาร แต่ถูกธนาคารปฏิเสธไม่อนุมัติเนื่องจากเป็นเอกสารปลอม ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ป. และ บก.สส.บช.น. จึงได้ร่วมกันทำการสืบสวนเพื่อติดตามจับกุมคนร้ายกลุ่มนี้มาดำเนินคดีตามกฎหมาย     จนกระทั่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ป. และ บก.สส.บช.น. ได้รวบรวมพยานหลักฐาน ยื่นขออนุมัติหมายจับต่อศาลเพื่อจับกุมผู้ต้องหา และสามารถจับกุมคนร้ายกลุ่มนี้ได้ในที่สุด

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบจากทางธนาคาร พบว่าความผิดปกติของเอกสารที่มีผู้นำมายื่นขอสินเชื่อกับทางธนาคาร โดยเอกสารดังกล่าวเชื่อได้ว่าเป็นเอกสารที่คนร้ายหรือผู้ต้องหากลุ่มนี้ร่วมกันปลอมแปลงขึ้นมาและหลอกลวงให้เหยื่อมายื่นขอกู้เงิน ซึ่งปัจจุบันพบแล้วกว่า ๓,๐๐๐ รายทั่วประเทศ

 กองปราบปรามจึงขอประชาสัมพันธ์ เตือนภัยประชาชน อย่าหลงเชื่อพฤติการณ์การกระทำในลักษณะดังกล่าว เพราะนอกจากตัวผู้กระทำความผิดจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว สำหรับผู้ที่จ้างให้ปลอมแปลงเอกสารดังกล่าว ก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาด้วยเช่นกัน เพราะถือว่าเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด

“ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด