ผบ.ตร. ลงนามคำสั่ง กำหนดแนวทางการรับแจ้งความคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสํานักงานตํารวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่มีสื่อออนไลน์นําเสนอ ข่าวเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของการกระทำความผิดในรูปแบบของแอพพลิเคชั่นเงินกู้ออนไลน์และมีผู้ได้รับความเสียหายในหลายพื้นที่ จึงส่งผลให้เกิดความสับสนในการแจ้งความร้องทุกข์

กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทําให้พี่น้อง ประชาชนได้รับผลกระทบต่อการทํากิจวัตรประจําวันและหันมาทําธุรกรรมการเงินต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น จึงทําให้มีเหล่ามิจฉาชีพอาศัยช่องว่างดังกล่าว แฝงตัวมาในรูปแบบของแอพพลิเคชั่นเงินกู้ออนไลน์ โดยแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ มีการเรียกเก็บดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่กฎหมายกําหนดหรือมีการทวงหนี้ในลักษณะที่ผิดกฎหมาย ซึ่งได้มีผู้เสียหายหลายรายเข้าไปใช้งานแอพพลิเคชั่นเงินกู้ออนไลน์และได้รับความเสียหายในหลายพื้นที่

ดังเช่น กรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 5 ได้มีผู้เสียหายจากแอพพลิเคชั่นเงินกู้รวมตัวกันมาแจ้งความ ซึ่งทางศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ตํารวจภูธรภาค 5 (ศปอส.ภ.5) ได้รับคําร้องทุกข์ไว้แล้วและจะดําเนินการสืบสวนสอบสวนต่อไป และในกรณีที่เกิดในพื้นที่ จ.กระบี่ ได้มีผู้เสียหายเข้าไปใช้งานลิงค์ที่มีการกู้เงินออนไลน์และได้รับเงินจริง แต่มีการเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา อีกทั้งยังมีการโทรมาทวงหนี้ในลักษณะการข่มขู่อีกด้วย ซึ่งทางผู้เสียหายก็ได้เข้าร้องทุกข์กับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค จากกรณีที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าการกระทำความผิดในรูปแบบดังกล่าว กำลังแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ และมีผู้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากยังมีความสับสน ไม่ชัดเจน ในเรื่องของอำนาจหน้าที่การรับผิดชอบคดีในรูปแบบดังกล่าว ซึ่งเป็นหนึ่งในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ ได้เล็งเห็นถึงความสําคัญของการพัฒนาทางเทคโนโลยี ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบจึงได้ปรับวิธีการรับแจ้งความให้ทันยุคสมัย เริ่มจากโครงการรับแจ้งความออนไลน์ เพื่ออํานวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถนัดหมายในการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษผ่านระบบออนไลน์ และเพื่อแก้ปัญหา ความสับสนในการร้องทุกข์

จึงได้ออกคําสั่ง ตร. ที่ 287/2564 ลงวันที่ 18 มิ.ย. 64 เรื่องการรับคําร้องทุกข์ และการสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งมีการกําหนดอํานาจหน้าที่ในการรับคําร้องทุกข์การสอบสวน และแนวทางการสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีไว้อย่างชัดเจน โดยหากความผิดมีเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

1.เป็นคดีที่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษในการสืบสวน 2.มีมูลค่าความเสียหาย 10 ล้านบาทขึ้นไปและมีผู้เสียหายตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป 3.มีมูลค่าความเสียหาย 30 ล้านบา ทขึ้นไป หรือผู้เสียหายตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป 4.เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ 5.ส่งผลร้ายแรงต่อระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ

6.ส่งผลร้ายแรงต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ การบริการสาธารณะ หรือสาธารณูปโภค 7.ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร การก่อการร้าย 8. มีนโยบายป้องกันและปราบปรามเป็นพิเศษ

ในช่วงนี้ให้ผู้เสียหายเข้าแจ้งความกับสถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ แต่หลังจากวันที่ 1 ส.ค. 64 สามารถเข้าแจ้งความกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บช.สอท.) หรือกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(บช.ก.) ได้โดยตรง หรือหากไม่สะดวกสามารถแจ้งความกับศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือสถานีตำรวจในพื้นที่ เพื่อพิจารณาส่งเรื่องดังกล่าวไปยัง บช.สอท. หรือ บช.ก. โดยหากเป็นไปตามเงื่อนไข ข้อ 1-5 หรือ 8 ทาง บช.สอท. จะเป็นผู้รับผิดชอบ หากเป็นไปตามเงื่อนไข ข้อ 6-8 ทาง บช.ก. จะเป็นผู้รับผิดชอบ

อีกทั้ง บช.สอท. ยังได้ขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว จึงได้จัดตั้งกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีตามภาคต่างๆ  เพื่อให้อำนวยความสะดวกและทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายยิ่งขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

รองโฆษกสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ขอเรียนประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางการหลีกเลี่ยงป้องกัน การกระทำความผิดในรูปแบบดังกล่าว มายังพี่น้องประชาชนว่า ควรวางแผนการเงินและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด, ประเมินความสามารถในการชําระหนี้ของตน ว่าจะสามารถชําระได้โดยที่ไม่เดือดร้อน , ควรศึกษารายละเอียดของผู้ให้กู้ให้ดี, ควรเลือกกู้เงินจากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ มีสัญญาการกู้ที่ชัดเจนและเป็นธรรมหากพบเห็นความผิดปกติหรือขอเสนอที่ดีเกินไปควรหลีกเลี่ยง หากเห็นแอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ที่น่าสงสัย หรือไม่มั่นใจว่าเป็นของจริงหรือไม่ ควรตรวจสอบจากสถาบันการเงินดังกล่าวทุกครั้ง ทั้งนี้ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ช่วยกันแจ้งเบาะแสการกระทําความผิดเข้ามา นอกจากนี้หากพบเบาะแสการกระทําความผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สํานักงานตํารวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง