ข่าวปลอม กรณีนัดฉีดวัคซีนยี่ห้อ Sinopharm ที่รพ.ศิริราช ต้องเสียค่าใช้จ่าย

วันที่ 13 ส.ค. 64 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการยืนยันจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ว่ามีการตรวจพบข่าวปลอมเพิ่มเติม 1 กรณี คือ

กรณีนัดฉีดวัคซีนยี่ห้อ Sinopharm ที่รพ.ศิริราช ต้องเสียค่าใช้จ่าย นั้น ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตรวจสอบกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ยืนยันว่าเป็นข่าวปลอม

จากกรณีที่มีผู้มารับบริการฉีดวัคซีนยื่นคูปองฉีดวัคซีนตามในรูป ที่จุดบริการฉีดของรพ.ศิริราช ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ตรวจสอบ และได้ชี้แจงว่า คูปองดังกล่าวเป็นของปลอม ไม่ใช่คูปองที่จัดทำขึ้นโดย รพ.ศิริราช และเมื่อสอบถามหาที่มาของคูปอง พบว่าได้คูปองมาจากเพื่อนหลานสาว ที่นำมาขายให้หลานสาวตน

โดยตามที่ รพ.ศิริราชให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชนทั่วไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเสี่ยง ของรพ.ศิริราช โดยสามารถจองวัน และเวลาการฉีดวัคซีนโควิด-19 ผ่านแอปพลิเคชัน Siriraj Connect รวมทั้งมีการออกใบนัดฉีดวัคซีนสำหรับบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และประชาชน กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งการฉีดวัคซีนโควิด-19 รพ.ศิริราชไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้นจากผู้รับบริการ

และขอเตือนประชาชนให้ระวังผู้ไม่ประสงค์ดี ฉวยโอกาสจัดทำใบนัดสำหรับฉีดวัคซีนปลอม พร้อมเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีน ซึ่งหากมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสำหรับใบนัดฉีดวัคซีน กรุณาอย่าหลงเชื่อ เพราะเมื่อท่านมาที่โรงพยาบาลศิริราชด้วยใบนัดฉีดวัคซีนปลอม ท่านก็จะไม่ได้รับการฉีดวัคซีนใด ๆ ทั้งสิ้น

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.si.mahidol.ac.th/th หรือโทร 02 4199111, 02 4199222

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : การฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่รพ.ศิริราช ไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตข่าวปลอม สร้างข่าวบิดเบือน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนสับสน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป
ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบข้อมูลการกระทำผิด สามารถแจ้งเบาะแสข่าวผ่าน
5 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com, เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter, ช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 และสายด่วน 1599 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”