ตร. เตือนนักลงทุนแชร์ออนไลน์ ระวังถูกหลอกสูญเงิน ใครคิดโกงระวังโทษหนัก แถมถูกยึดทรัพย์อีกด้วย

วันที่ 16 ก.ย.2564 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันมีพี่น้องประชาชนต้องการนำเงินเก็บของตนเองมาลงทุนเพื่อให้ได้ผลกำไร หรือต้องการเงินโดยไม่ต้องผ่านสถาบันการเงินหรือเงินกู้นอกระบบที่มีการเรียกอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก จึงเข้าร่วมเล่นแชร์ออนไลน์ที่มีการชักชวนผ่านสื่อสังคมออนไลน์  ซึ่งบางครั้งก็ไม่รู้จักตัวตนจริงของอีกฝ่าย แต่นำเงินหลักหมื่นหลักแสนมาร่วมเล่นแชร์ออนไลน์และถูกมิจฉาชีพหลอกลวงสูญเงินเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งคิดสั้น ตัดสินใจไปก่ออาชญากรรมเพื่อให้ได้เงินคืนมา ยกตัวอย่าง

กรณีนักเรียนมัธยม อายุ 17 ปี  ที่ก่อเหตุใช้อาวุธมีดชิงทรัพย์ร้านค้าทอง และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัว

       พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ฯ กล่าวต่อไปว่า แต่เดิมนั้น “การเล่นแชร์” ส่วนใหญ่จะเล่นกันในหมู่คนที่ใกล้ชิดหรือคนรู้จักคุ้นเคยกัน เพราะต้อง อาศัยความไว้เนื้อเช่ือใจซึ่งกันและกันพอสมควร แต่มาถึงโลกยุคดิจิทัลที่ประชาชนเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น จึงมีมิจฉาชีพหลอกลวงประชาชนผ่านการเล่นแชร์ออนไลน์ โดยจะมีการโฆษณาชักชวน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ให้ออมเงินโดยอ้างว่าจะให้ดอกเบี้ยสูงกว่าสถาบันการเงินสุดท้ายก็ปิดวงแชร์หลบหนีพร้อมเงินที่ผู้เสียหายร่วมเล่นแชร์ หรือ หลอกให้ร่วมลงทุนในธุรกิจ(ที่ไม่มีอยู่จริง)ในลักษณะแชร์ลูกโซ่ โดยมิจฉาชีพจะอ้างว่าได้ผลกำไรสูง ในระยะเวลาสั้นๆ  ซึ่งมิจฉาชีพมักจะทำให้ตายใจด้วยการจ่ายผลตอบแทนตามที่โฆษณาไว้เพื่อเป็นการหลอกให้ลงทุนสูงขึ้น และบางคนถึงขั้นไปชักชวนญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงมาร่วมลงทุนอีกด้วย ซึ่งสุดท้ายมิจฉาชีพมักจะอ้างว่าธุรกิจขาดทุน มีปัญหา จึงไม่สามารถส่งเงินได้ตามปกติ พร้อมทั้งบอกกับผู้เสียหายว่าอย่าเพิ่งแจ้งความ สุดท้ายจะตัดการติดต่อและหลบหนีไปในที่สุด

   สำหรับความผิดที่เกี่ยวข้องนั้น จะขอกล่าวเฉพาะประเด็นสำคัญ ดังนี้

1.พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6กำหนดว่า

ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะ อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้(1) เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์ รวมกันมากกว่าสามวง

(2) มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน

(3) มีทุนกองกลางต่อหน่ึงงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่า จำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

(4) นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์น้ันได้รับประโยชน์ ตอบแทนอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลางในการเข้าร่วมเล่นแชร์ ในงวดหนึ่งงวดใดได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ฯ

ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือท้ังจำท้ังปรับ”

มาตรา 9 ห้ามมิให้ ผู้ใดโฆษณาชักชวนให้ประชาชนท่ัวไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์ ผู้ใดฝ่าฝืนต้อง ระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

2.พ.ร.ก.การกู้ยืมเงิน ที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน มาตรา 12 ผู้ใดกระทําความผิดตามมาตรา 4หรือมาตรา 5 ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนถึงหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

3.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ฉ้อโกงประชาชน ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4.พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชนฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

 นอกจากนี้ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาหรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนยังเป็นหนึ่งในมูลฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ดังนั้นหากเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนได้ว่าผู้กระทำผิดโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือปกปิดที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือกระทำการใด ๆ เพื่อปกปิดการจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใด ๆ ของทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือได้มาหรือครอบครองทรัพย์สิน โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ผู้กระทำผิดจะต้องถูกดำเนินคดี ตามมาตรา 5 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปี ถึง สิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาท ถึงสองแสนบาท และอาจถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดด้วย

    สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน ไม่อยากให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ จึงขอประชาสัมพันธ์การลงทุนแชร์หรือร่วมทำธุรกิจที่มีการชักชวนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือของการลงทุนตามที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นจริงหรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะการลงทุนที่อ้างว่าได้รับผลตอบแทนสูงในระยะเวลาสั้นๆ ที่สำคัญการร่วมลงทุนกับบุคคลรู้จักกันในสื่อสังคมออนไลน์ แต่ไม่เคยเจอตัวจริง ควรหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด

      ทั้งนี้ขอความร่วมมือมายังพี่น้องประชาชน หากพบเห็นการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว กรุณาแจ้งเบาะแสไปยังสายด่วน 191 และสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง