รองโฆษกตร.เตือนภัย การกู้เงินนอกระบบ พบมีการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย ใช้ความรุนแรง และหากพบว่าผู้ที่ปล่อยเงินกู้ไม่ได้รับอนุญาตมีโทษหนัก

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงพิษภัยของปัญหาดังกล่าวและเพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล จึงได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งการไปยัง กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(บก.ปอศ.) ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ศปน.ตร.) และหน่วยงานอื่นๆ ในสังกัดที่เกี่ยวข้อง เร่งทำการสืบสวนสอบสวนปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ รวมถึงนายทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกรายอย่างจริงจังต่อเนื่องเด็ดขาด เพื่อให้ได้ผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม

ในปัจจุบันยังคงอยู่ในห้วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชนบางส่วน จึงมีความจำเป็นต้องไปกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ มากขึ้น ซึ่งก็มีเหล่ามิจฉาชีพที่ฉวยโอกาสนี้แฝงตัวมาในรูปแบบของแหล่งเงินกู้นอกระบบและได้กระทำความผิดรูปแบบต่างๆ โดยการกระทำความผิดหลักๆ ที่พบ คือการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราและการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย ดังเช่นกรณีที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 64 ซึ่งเกิดขึ้นที่ จ.ระยอง เป็นคลิปวิดิโอปรากฏภาพการทวงหนี้โดยมีการทำร้ายร่างกาย และใช้อาวุธข่มขู่ อีกทั้งยังถ่ายคลิปและส่งไปให้แม่ของลูกหนี้ดูอีกด้วย ซึ่งทาง สภ.เพ จ.ระยอง ได้รับคำร้องทุกข์จากผู้เสียหายไว้แล้ว จะดำเนินการตามกระบวนการต่อไป และที่ผ่านมาทาง ศปน.ตร. ได้มีการจับกุมผู้ต้องหารายสำคัญหลายราย เช่น การจับกุมเครือข่าย KIKO KAKA ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นปล่อยเงินกู้นอกระบบรายใหญ่ มีผู้ร่วมขบวนการกว่า 10 ราย กระจายตัวในหลายพื้นที่ และมีการยึดของกลางในคดีเป็นทรัพย์สินจำนวนกว่า 2.1 ล้านบาท โดยจากสถิติของ ศปน.ตร. พบว่าในช่วงระหว่างวันที่ 8 มิ.ย. 63 – 30 ก.ย. 64 มีการแจ้งการกระทำความผิดซึ่งเกี่ยวข้องกับเงินกู้นอกระบบกว่า 3,600 เรื่อง ซึ่งการกระทำความผิดที่ได้รับแจ้งมากที่สุด 3 อันดับ คือ การเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา, แอพพลิเคชั่นกู้เงินออนไลน์ และการทวงหนี้ผิดกฎหมาย ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดําเนินการสืบสวนสอบสวนจับกุมผู้กระทําความผิดต่อไป

การกระทำลักษณะดังกล่าว ในส่วนการทวงหนี้โดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ฯ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการข่มขู่ การใช้ความรุนแรง การใช้วาจาดูหมิ่นหรือการเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนผู้ที่กระกอบธุรกิจสินเชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000-500,000 บาทและการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท และหากมีการตรวจสอบพบทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด ก็อาจมีความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเรียนประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมถึงแนวทางการหลีกเลี่ยงป้องกันว่า ควรวางแผนการเงินและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากจำเป็นต้องกู้เงินจริงๆ ควรเลือกกู้เงินจากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ และศึกษารายละเอียดของผู้ให้กู้ให้ดี รวมถึงมีสัญญาการกู้ที่ชัดเจนและเป็นธรรม เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบ หากพบเห็นความผิดปกติ หรือขอเสนอที่ดีเกินไปควรหลีกเลี่ยง และอย่าหลงเชื่อว่าตัวเองโชคดี นอกจากนี้หากพี่น้องประชาชนหากพบเบาะแสการทวงหนี้ผิดกฎหมายหรือการกระทำความผิดอื่นๆ สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง