ผบ.ตร. นำทีมแถลงผลการช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ในต่างประเทศ

ในรอบปี พ.ศ.๒๕๖๔ ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือผ่านทางสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดีย ว่ามีคนไทยถูกหลอกลวงและตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในต่างประเทศ และได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยราชการไทยและต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง จนสามารถเข้าให้ความช่วยเหลือคนไทยดังกล่าวและเดินทางกลับประเทศไทย ตามที่ทราบแล้ว นั้น

ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ   รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การช่วยเหลือเหยื่อคนไทยที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ พร้อมทั้งขยายผลถึงเครือข่ายผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการตัดวงจรการกระทำผิดของกลุ่มองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเหล่านี้ ที่ได้ใช้โอกาสที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในช่วงโควิด-๑๙ หลอกลวงคนไทยไปบังคับใช้แรงงานและค้าประเวณีในต่างประเทศ ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวอาจเข้าข่ายการค้ามนุษย์ กระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไปในสังคมในวงกว้าง

จากกรณีดังกล่าว พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร./ผู้อำนวยการ ศพดส.ตร. และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร./ รองผู้อำนวยการ ศพดส.ตร. ในการดำเนินการประสานงานหน่วยงานและส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กองต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กรมการกงสุล กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รวมทั้งความร่วมมือจากภาคเอกชน เช่น NGO ต่างๆ ที่ช่วยให้ข้อมูลของคนไทยทีร้องขอความช่วยเหลือ จนสามารถช่วยเหลือคนไทยซึ่งถูกหลอกลวงกลับมาได้อย่างปลอดภัยจำนวนทั้งสิ้น 364 คน แบ่งเป็นการช่วยเหลือจากประเทศกัมพูชาจำนวน 361 คน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จำนวน 3 คน นอกจากนี้ยังมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในกรณีดังกล่าวได้เป็นจำนวนมาก โดยมีการออกหมายจับผู้กระทำผิดที่หลอกลวงคนไทยไปบังคับใช้แรงงานในกัมพูชาได้ทั้งสิ้น 32 ราย จับกุมแล้ว 15 ราย คงเหลือ ๑๗ ราย และออกหมายจับผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงคนไทยไปค้าประเวณีที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ทั้งสิ้น 25 ราย จับกุมแล้ว ๖ ราย คงเหลือ ๑๙ ราย

กรณีผู้เสียหายจากกัมพูชานั้น เป็นกรณีที่ผู้เสียหายได้ถูกหลอกลวงจากข้อมูลการรับสมัครงานทางโซเชียลมีเดียเหมือนปกติทั่วไป ตั้งแต่งานรับจ้างทั่วไป จนถึงงานในคาสิโน โดยมีการใช้ตัวเลขรายได้ที่สูงมาล่อใจ เพื่อให้ผู้เสียหายมีความสนใจสมัครไปทำงานดังกล่าว แต่แท้จริงแล้วได้มีการนำพาผู้เสียหายข้ามชายแดนโดยผิดกฎหมายตามช่องทางธรรมชาติ และมีการยึดหนังสือเดินทาง และบังคับให้ทำงานที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหลอกลวงให้คนไทยลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีอยู่จริง หรือคอลเซ็นเตอร์ สร้างความเสียหายมูลค่าหลายล้านบาท หากใครไม่ยอมทำงานดังกล่าวก็จะถูกบังคับทุบตี ทำร้ายร่างกาย กักขัง และอดอาหาร จะต้องหาทางร้องขอความช่วยเหลือจากทางการไทยเพื่อช่วยเหลือกลับประเทศไทย

ส่วนในกรณีผู้เสียหายจากดูไบ เป็นกรณีที่ผู้เสียหายได้ถูกหลอกลวงในลักษณะใกล้เคียงกันคือ เป็นการรับสมัครงานในลักษณะนวดไทยในเมืองดูไบ และมีการใช้ตัวเลขค่าตอบแทนที่สูงรวมทั้งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพื่อให้เหยื่อมีความสนใจและยินยอมที่จะเดินทางไปทำงานยังปลายทางในต่างประเทศ แต่เมื่อไปถึงกลับพบว่า งานไม่ตรงกับที่ได้รับแจ้งในโอกาสแรก และถูกบังคับให้ค้าประเวณีในสถานที่ที่ถูกตั้งเป็นร้านนวดบังหน้า บางครั้งอาจจะถูกขายต่อไปยังเมืองห่างไกล และต้องถูกบังคับค้าประเวณีโดยไม่ได้รับเงินค่าจ้างแต่อย่างใด การติดต่อหาความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ก็เป็นเรื่องยาก ทำให้ต้องหาความช่วยเหลือผ่านทางญาติที่เมืองไทย จนสามารถประสานงานหน่วยงานไทยเพื่อให้ความช่วยเหลือกลับประเทศไทยได้อย่างปลอดภัย

ในการนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอความร่วมมือพี่น้องสื่อมวลชน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบถึงพฤติการณ์ของขบวนการดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปใช้ความระมัดระวังในการหางานผ่านสังคมออนไลน์ เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อขบวนการข้ามชาติเหล่านี้ นอกจากนี้หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าว สามารถแจ้งข้อมูลมายัง ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์       และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) โดยตรง ช่องทางสายด่วน ๑๕๙๙ หรือผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก  https://www.facebook.com/antihumantraffickingpolice เพื่อแจ้งเบาะแสในการปราบปรามการกระทำผิดต่อไป