สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยกู้เงินออนไลน์อาจถูกมิจฉาชีพหลอกลวง ซ้ำเติมความเดือดร้อน สร้างความเสียหายในหลายรูปแบบ

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอฝากเตือนภัยถึงกรณีการกู้เงินผ่านช่องทางออนไลน์   ในทุกแพลตฟอร์ม รวมถึงแอปพลิเคชั่นต่างๆ อาจถูกมิจฉาชีพหลอกลวงได้

ดังเช่นกรณีที่ปรากฎในสื่อออนไลน์ กรณีที่หญิงสาวรายหนึ่ง ผูกคอตายหลังถูกมิจจฉาชีพหลอกให้โอนเงินจนหมดตัวเนื่องจากต้องการกู้เงินผ่านทางแอปพลิเคชั่นไลน์ จำนวนเงิน 100,000 บาท  โดยแม่ผู้ตายเล่าว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการหลอกให้โอนเงิน เพื่อทดสอบว่าผู้ยืมจะสามารถโอนเงินคืนได้ตามกำหนดหรือไม่ ซึ่งทางผู้ตายก็ได้มีการโอนเงินไปทั้งหมด 10 ครั้ง เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ยอดรวม 38,200 บาท

จึงขอย้ำเตือนถึงพิษภัยและความน่ากลัวของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทำให้ตัวเราเอง รวมถึงคนรอบตัวได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ทั้งในเรื่องทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียง รวมไปถึงชีวิต และขอให้กรณีดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาแก่พี่น้องประชาชนได้ตระหนักถึงความอันตราย รวมทั้งขอแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวผู้เสียชีวิต

โดยระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม  – 25 ธันวาคม 2564 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทำการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ จากคดีที่รับแจ้งทั้งหมด 555 คดี มีผลการจับกุมผู้ต้องหา 308 ราย

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตระหนักถึงพิษภัยของปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จึงได้สั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยโดยเฉพาะกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บช.สอท.) และ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ให้เร่งสร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชน ให้ทราบถึงพิษภัยและรูปแบบการกระทำความผิดต่างๆ และเร่งทำการสืบสวนปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี เพื่อเป็นการจำกัดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นและตัดโอกาสในการกระทำความผิดอย่างจริงจังต่อเนื่อง ให้มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม

การกระทำลักษณะดังกล่าวนอกจากจะเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19และยังเข้าข่ายความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากมีการตรวจสอบพบทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด ก็อาจมีความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของผู้ที่ได้รับความเสียหายสามารถเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนในท้องที่ต่างๆได้

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอฝากเตือนถึงกรณีการใช้แพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชั่นในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

1.หากมีความจำเป็นต้องกู้เงิน แนะนำให้กู้ผ่านธนาคาร,แอปพลิเคชั่นที่เป็นทางการของธนาคาร หรือช่องทางที่หน้าเชื่อถือเท่านั้น พร้อมทั้งตรวจสอบเสมอหากกู้ผ่านแอปพลิเคชั่น เพราะมิจฉาชีพมักสร้างแอปพลิเคชั่นปลอมที่มีชื่อคล้ายกับธนาคารมาหลอกลวง

2.หากผิดพลาดไปแล้วให้รีบเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมทั้งขอคำปรึกษาเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

3.ควรหาข้อมูล อ่านคำอธิบายรายละเอียดของแพลตฟอร์ม แอปพลิเคชั่นดังกล่าวให้ถี่ถ้วนก่อนทุกครั้ง ว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด

4.ควรตรวจสอบข้อมูลของนักพัฒนาแพลตฟอร์ม แอปพลิเคชั่นดังกล่าว รวมถึงรายชื่อผู้ร่วมก่อตั้ง ว่าเคยมีประวัติหรือมีการรีวิวในด้านที่ไม่ดีหรือไม่

5.ควรดูจำนวนผู้ดาวน์โหลด หรือใช้แพลตฟอร์ม แอปพลิเคชั่นดังกล่าวว่ามีผู้ใช้งานมากน้อยเพียงใด เพื่อประกอบการตัดสินใจ

6.ไม่ควรหลงเชื่อการชักชวนในรูปแบบ ลงทุนน้อยได้กำไรมาก หรืออะไรที่ทำง่ายแต่ได้รับผลตอบแทนสูง

นอกจากนี้ หากพบเห็นเบาะแสการกระทำผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ   หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง