สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) จับมือ กทม. คมนาคม ลงพื้นที่สำรวจแก้ปัญหาทางม้าลาย

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. พร้อมตัวแทนจากกระทรวงคมนาคม ตัวแทนจากสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร และตัวแทนโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ลงพื้นที่ตรวจสอบ เส้นทางตั้งแต่แยกพญาไท และเส้นทางถนนพญาไทขาออก จนถึงทางม้าลาย บริเวณหน้า โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ที่เป็นจุดเกิดเหตุ บิ๊กไบค์ ที่มีสิบตำรวจตรีนรวิชญ์ บัวดก ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (กก.1 บก.อคฝ.) พุ่งชน แพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย  แพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อช่วง 15 นาฬิกา ของวันศุกร์ ที่ 21 มกราคม ที่ผ่านมา

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ระบุว่า จากการลงพื้นที่ร่วมกับหลายหน่วยงานเพื่อหาจุดอ่อนในบริเวณนี้ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ตอนนี้ยังไม่ฟันธงว่าจะต้องดำเนินการสิ่งใดก่อน เพราะต้องมีการหารือร่วมกัน ทั้ง กทม.กับตำรวจนครบาล ซึ่งในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมสองครั้ง คือในวันพรุ่งนี้ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย ของคณะกรรมการนโยบายการป้องกันอุบัติเหตุทางท้องถนน โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และในวันที่ 28 ม.ค.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเป็นการประชุมระหว่าง กทม. กระทรวงคมนาคม และหน่วยเกี่ยวข้องเพื่อหารือการวางมาตรฐานการดูแลทางม้าลายทั่วประเทศให้เกิดความปลอดภัยในระยะยาว รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ยังระบุอีกว่า สำหรับกรุงเทพฯ จะมีการติดตั้งเครื่องหมายสัญญาณไฟทางม้าลาย รวมถึงกล้องตรวจจับ ส่วนที่ต่างจังหวัด จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมกับท้องถิ่น พร้อมจะประเมินว่า ถ้าจุดไหนไม่มีมาตรฐานต้องปรับปรุงอย่างไร จุดไหนไม่เหมาะสมหรือมีความเสี่ยงมากก็จะยกเลิกหรือปรับย้ายทางม้าลายออกไป แต่ก็ต้องสอบถามกับโรงพยาบาลสถาบันไตฯ ในฐานะผู้ใช้ว่ามีความเห็นอย่างไรบ้าง โดยจะเชิญไปร่วมประชุมด้วย

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบจุดเกิดเหตุพบว่าไม่มีสัญญาณไฟเตือนทางม้าลาย เนื่องจากอยู่ใกล้แยกพญาไท เมื่อมีรถเลี้ยวซ้ายเข้ามาจะเร่งความเร็วทำให้รถที่อยู่เลนขวาสุด อาจถูกรถทางซ้ายทั้งสองเลนบังจนไม่เห็นคนข้าม ยอมรับว่า จากการที่เดินข้ามทางม้าลายด้วยตัวเองก็มีความกังวล เพราะมีข่าวออกมา ก็ยิ่งกังวลเป็นธรรมดา ยิ่งได้มาลงพื้นที่เองก็จะทำให้ดีที่สุดในการแก้ไข

สำหรับสัญญาณไฟจราจรที่แยกรัชโยธินแสดงสัญญาณไฟเขียวคนข้ามพร้อมกับการเดินรถนั้น ก็จะต้องปรับปรุงในภาพรวม ซึ่งมาตรการป้องกันในเบื้องต้น เช่น การติดตั้งป้ายกำหนดความเร็วก่อนถึงทางม้าลายไม่ให้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือป้ายชะลอความเร็ว รวมถึงการเพิ่มไฟส่องสว่างให้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะนำเคสหมอกระต่ายเป็นบทเรียนในการพัฒนาทางม้าลายให้ดียิ่งขึ้น

ขณะที่ ผบ.ตร. ยังได้กำชับกำลังพลมาตลอดว่าหากทำอะไรผิดจะโดนกระแสสังคมโจมตีหนักเป็นสองเท่า จึงได้กำชับให้ตำรวจนครบาลทำคดีอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการยกเว้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการ พิสูจน์เรื่องความเร็วของรถว่าเกินกฎหมายกำหนดหรือไม่เพราะหากพบว่าเกินกว่ากฎหมายกำหนดก็จะต้องมีการแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ซึ่งต่อจากนี้ จะนำเหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนและแก้ไขต่อไป

ส่วนเรื่องของการแก้กฎหมายเพิ่มโทษเกี่ยวกับการไม่จอดรถให้ทางข้ามแยกหรือการจอดทับเส้นทางม้าลาย ก่อนหน้านี้มีการยื่นแก้กฎหมายเพิ่มโทษไปตั้งแต่ช่วงปี 2562 โดยมีการเสนอ เพิ่มอัตราโทษในการฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร จากปรับไม่เกิน 1,000 บาทเป็นไม่เกิน 4,000 บาท ซึ่งกฎหมายอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภา คาดว่าจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไม่เกินเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งนอกจากการเพิ่มอัตราโทษแล้ว จะมีการตัดคะแนนจราจรเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนกรณีแชทข้อความในไลน์กลุ่มแจ้งข่าวตำรวจนครบาลในลักษณะที่ตำรวจน้อยใจเนื่องจากสังคมไม่วิจารณ์กรณีเสี่ยเบนซ์ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตแล้วไปบวชนั้น มองว่าการที่ผู้กระทำผิดสำนึกผิดเป็นเรื่องดีเพราะขี่รถ โดยประมาทไม่มีเจตนา ซึ่งจากการสอบสวนเบื้องต้นทราบว่า ส.ต.ต.นรวิชญ์ ขี่มาจากทางแยกด้วยความเร็วและโดนรถบังทางซ้าย ซึ่งเมื่อเกิดเหตุเจ้าตัวก็เสียใจต้องการจะไถ่โทษให้กับผู้เสียชีวิต แม้ว่าไม่สามารถทำให้หมอกระต่ายฟื้นกลับมาได้ ก็ถือเป็นการแสดงออกให้สังคมเห็นว่าสำนึกผิด

ส่วนกรณีการโอนรถลอยผิดกฎหมายหรือไม่ ทั้งในกรณี ส.ต.ต.นรวิชญ์ และประชาชนทั่วไป พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ระบุว่า จะต้องตรวจสอบประวัติว่ามีเจตนาที่จะไม่จดทะเบียนหรือไม่ประกอบกับข้อกฎหมาย และจะต้องหารือในที่ประชุมทั้งสองนัดว่าจะปรับแนวทางหรือการทำงานและการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ เช่น พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ร.บ.ขนส่งทางบก พ.ร.บ.จราจร ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร โดยบางข้อได้แก้ไขไปแล้ว แต่ในบางเรื่องก็ต้องมาช่วยบูรณาการร่วมกันซึ่งเชื่อว่ากรณีนี้จะทำให้การทำงานระหว่างหน่วยต่างๆ ดียิ่งขึ้น