กรมสุขภาพจิต ผนึกกำลัง กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ขยายผลกลไกการพัฒนาทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย Hope Task Force พร้อมบูรณาการเชิงรุกช่วยเหลือบุคคลที่ส่งสัญญาณความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในโลกออนไลน์

     วันนี้ (4 เมษายน 2565) กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และเหล่า Social Influencer ชื่อดัง ประสานความร่วมมือเพิ่มศักยภาพทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย Hope Task Force เพื่อป้องกันผลกระทบปัญหาการระบาดของโรคโควิด 19 และแนวโน้มการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงจนสะสมและพัฒนาเป็นปัญหาสุขภาพจิตนำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตาย

     พลตำรวจโท จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวว่า การจัดตั้ง HOPE Task Force เป็นการรวมตัวกันของ 3 ภาคส่วนที่มีเป้าหมายเดียวกันในการรักษาชีวิตประชาชน และเป็นการนำจุดแข็งของทั้ง 3 ภาคส่วนมารวมไว้ในที่เดียวกัน กรมสุขภาพจิตมีศักยภาพในการเยียวยารักษาปัญหาด้านสุขภาพจิตของประชาชน และบำบัดฟื้นฟูในระยะยาวเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ด้านกองบังคับการปราบปรามมีศักยภาพในการสืบสวนและประสานงานในการเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วทั่วประเทศ และในด้าน Social Influencer มีความสามารถในการเข้าถึงสัญญาณเตือนที่ถูกส่งมาจากพี่น้องประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เมื่อนำความเข้มแข็งของทั้งสามส่วนมารวมเข้าไว้ด้วยกัน การช่วยเหลือก็จะสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากที่การดำเนินงานของ HOPE Task Force ในระยะแรก ได้พิสูจน์โมเดลความร่วมมือนี้แล้วว่าสามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมหาศาล ระยะต่อจากนี้จะขยายความช่วยเหลือไปยังภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพจิตอื่น ๆ ต่อไป

     แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ในปัจจุบันประชากรทั่วโลกได้เห็นความสำคัญของปัญหาทางสุขภาพจิตและการลงทุนเพื่อการป้องกันและบำบัดรักษาผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตใจ โดยผลกระทบที่สำคัญคือ การฆ่าตัวตาย ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์  2565 จากการเก็บข้อมูลของศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ พบว่าอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ปี 2564 มีจำนวน 4,810 คน คิดเป็นอัตราร้อยละ 7.35 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งจากการสรุปผลการทำงานระยะแรกของ HOPE Task Force ในระหว่าง ตุลาคม 2563 – กุมภาพันธ์ 2565 พบว่า กระบวนการดำเนินงานดังกล่าวได้ช่วยเหลือชีวิตคนที่มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย จำนวนรวม 308 ราย โดยประเด็นปัญหาที่พบในการฆ่าตัวตายได้แก่ สัมพันธภาพในครอบครัว ความรัก เศรษฐกิจการเงิน การเจ็บป่วย การพนัน การปรับตัว การรับประทานยาจิตเวชไม่ต่อเนื่อง สัมพันธภาพกับเพื่อน การเรียนการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เป็นต้น โดยทั้งนี้ยังพบอีกว่าผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือมีกลุ่มผู้มีประวัติการเจ็บป่วยทางสุขภาพจิต จำนวน 66 ราย ซึ่งคุณค่าจากการช่วยชีวิตประชาชน ถือว่าเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอย่างมหาศาลจากการรักษาทรัพยากรที่สำคัญที่สุดหรือทรัพยากรมนุษย์ให้ยังคงอยู่ในสังคมต่อไป

     กรมสุขภาพจิต กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และ Social Influencer มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการพัฒนาความร่วมมือ ในครั้งนี้จะเป็นการต่อยอดเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมไทย โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาให้ HOPE Task Force  เป็นระบบการช่วยชีวิตที่รวดเร็วกว่าเดิม บุคคลที่ส่งสัญญาณความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในโลกออนไลน์ได้รับความช่วยเหลือทางด้านสุขภาพจิตอย่างฉับไวมากขึ้น มีความครอบคลุมในวงกว้างมากขึ้น และมีการติดตามดูแลรักษาและบำบัดเยียวยาในระยะยาวเพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตายซ้ำในอนาคตอย่างยั่งยืนต่อไป