สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับทรูฯ มูลนิธิกระจกเงา เปิดโครงการ “หาย (ไม่) ห่วง”

เมื่อบ่ายวานนี้ (14 ก.พ. 62) กลุ่มทรู จับมือมูลนิธิกระจกเงา พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ภาครัฐและเอกชน  เปิดโครงการ หาย(ไม่)ห่วง ต่อยอดขยายผลแอพพลิเคชั่น Thai Missing นำเทคโนโลยีสื่อสาร ผสานพลังจิตอาสาในสังคม ร่วมติดตามคนหายกลับสู่อ้อมกอดของครอบครัว ณ ห้อง Conference Hall Glowfish สาธร

นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ คนหายเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า สถิติรับแจ้งคนหาย ปี 2561 ทั้งสิ้น 906 ราย เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี 309 ราย ในขณะที่สาเหตุการหายตัวออกจากบ้านที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น คือ กลุ่มโรคสมองเสื่อมมีอาการหลงลืม โรคทางจิตเวช และกลุ่มพัฒนาการทางสมองที่พลัดหลงสูญหายออกจากบ้านในปี 2561 กว่า 531 ราย ถือเป็น 60% ของสาเหตุการหายตัวออกจากบ้าน ทั้งนี้แนวโน้มสถิติของคนหายในกลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช และผู้อายุที่มีอาการหลงลืม คนหายพลัดหลงที่เป็นผู้ป่วยในกลุ่มโรคสมองเสื่อมมีอาการหลงลืม โรคทางจิตเวช ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ  ส่วนกลุ่มพัฒนาการทางสมองช้ามักเป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี  ลักษณะของคนหายในกลุ่มนี้จะเป็นการพลัดหลงออกจากบ้าน กลับบ้านไม่ถูก จดจำข้อมูลส่วนตัวไม่ได้ ซึ่งถือเป็นผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือ มูลนิธิกระจกเงา จึงได้ระดมความเห็นกับ ทรู คอร์ปอเรชั่น และภาคีเครือข่าย เพื่อนำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาช่วยแก้ไขปัญหา โดยร่วมกันพัฒนาสายรัดข้อมือ ที่มี QR Code และเลขรหัส ตลอดจนมีสัญลักษณ์ ภายใต้โครงการ หาย (ไม่) ห่วงมีระบบฐานข้อมูลที่ให้ญาติที่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคสมองเสื่อม กลุ่มผู้ป่วยจิตเวช และกลุ่มผู้ป่วยพัฒนาการทางสมองช้า มาลงทะเบียนรับสายรัดข้อมือให้ผู้ป่วยสวมใส่ หากเกิดเหตุพลัดหลง พลเมืองดีและเจ้าหน้าที่ผู้ให้การช่วยเหลือจะได้ทราบว่าผู้ป่วยเป็นใคร โดยข้อมูลของผู้ป่วยจะไม่ถูกเปิดเผย เนื่องจากฐานข้อมูลเป็นระบบปิด เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา จะประสานงานญาติโดยตรงเมื่อสายรัดข้อมูลเส้นที่ผู้ป่วยลงทะเบียนถูกสแกนและแจ้งเบาะแสเข้ามา  ทั้งนี้ ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลสายรัดข้อมือดังกล่าว ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่สถานสงเคราะห์รับทราบ หากมีผู้ป่วยที่สวมสายรัดข้อมูลถูกส่งตัวหลังพลเมืองให้การช่วยเหลือ จะได้ทราบว่าผู้ป่วยที่พลัดหลงเป็นใคร

ดร.กันทิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้ช่วยบริหารงาน ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ในปัจจุบันแนวโน้มคนหาย ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยจากภาวะต่างๆ เช่น ผู้ป่วยจิตเภท บุคคลออทิสติก รวมถึงผู้สูงอายุที่มีอาการสมองเสื่อมจดจำอะไรไม่ได้ ซึ่งส่งผลให้การติดตามยากลำบาก จึงได้ร่วมกันพัฒนาแอพพลิเคชั่น Thai Missing โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท Energetic และ Start up ของทรู คือบริษัท ME ID ร่วมกันพัฒนาและนำศักยภาพของเทคโนโลยี RFID และ QR Code มาช่วยในการติดตามบุคคลที่มีโอกาสพลัดหลง เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลคนหายที่มีการอัพเดทตลอดเวลา และยังเปิดให้คนในสังคมยุคใหม่ สามารถมีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลและช่วยเหลือสังคม โดยแจ้งเบาะแสและส่งต่อข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือได้ทันที

พลตำรวจตรี ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากร และกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการบริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม กล่าวว่าที่ผ่านมาคณะทำงานได้ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานในการลงพื้นที่สืบสวนสอบสวนและติดตามหาตัวคนหายและพิสูจน์บุคคล ซึ่งจากการทำงานมักประสบปัญหาความขาดแคลน ทั้งทางด้านบุคลากร เครื่องมือและงบประมาณเนื่องจากบุคคลพลัดหลงส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคทางสมองหรือโรคทางจิตเวช ซึ่งจะมีอาการหลงลืมจำญาติ และที่อยู่ของตนเองไม่ได้ ทำให้การติดตามตัวเพื่อส่งคืนครอบครัวมีความยากลำบาก สำหรับโครงการ หาย(ไม่)ห่วงนี้ กองทะเบียนประวัติอาชญากร เห็นว่ามีประโยชน์ต่อประชาชนกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว จึงได้มีการเสนอเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชาให้มีการพิจารณาการแจ้งประชาสัมพันธ์ โครงการให้ทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงข้อมูลโครงการอย่างทั่วถึงและให้บุคคลกลุ่มเสี่ยงเข้าร่วมโครงการนี้เพื่อประโยชน์ในการติดตามตัวกรณีเกิดเหตุต่อไป

นางเกษรา ชัยเหลืองอุไร ผู้เชี่ยวชาญเพาะด้านส่งเสริมสวัสดิการสังคม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า สำหรับโครงการ หาย(ไม่)ห่วง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ภาคเอกชน ได้มีช่วยร่วมในการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหา และมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กลุ่มเป้าหมาย สามารถกลับคืนสู่ครอบครัวได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กรมพัมนาสังคมและสวัสดิการ ได้ประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรของกรมรับทราบแล้ว หากมีบุคคลที่สวมสายรัดข้อมือดังกล่าว เข้ามาใช้บริการในหน่วยงาน เจ้าหน้าที่จะสามารถอำนวยความสะดวกให้กับมูลนิธิกระจกเงา ประสานข้อมูลเพื่อติดตามญาติในทันที

ร่วมกันเป็นฮีโร่ ได้เพียงดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Thai Missing หากพบเห็นบุคคลที่มีกลุ่มเสี่ยงหรือผู้สูงอายุที่คาดว่าหลงทาง ให้สังเกตสายรัดข้อมือสีเหลืองรูปหัวใจ และมีแถบคิวอาร์โค้ด ให้สแกนคิวอาร์โค้ดบนสายรัดข้อมือ ข้อมูลจะถูกเชื่อมต่อถึงมูลนิธิทันที เพื่อติดต่อญาติให้มารับผู้พลัดหลงกลับสู่ครอบครัวอย่างปลอดภัย